โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ (Cleaning Robot for Floating Solar Panels)
มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.พรศักดิ์ ศรีสังสิทธิสันติ ภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาหุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ(Cleaning Robot for Floating Solar Panels) ครั้งแรกในประเทศไทยพัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากทุนวิจัยและพัฒนา กฟผ.- สวทช. ประจำปี 2564 โครงการวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-Floating Solar Hybrid) โรงไฟฟ้าแห่งนี้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ รวมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรกำลังผลิต 36 เมกะวัตต์ ถือเป็นโรงไฟฟ้าระบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวม 81 เมกะวัตต์ แผงโซล่าเซลล์แบบติดตั้งบนผิวน้ำ จะมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยความได้เปรียบในด้านประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของแผง โซล่าเซลล์จากอุณหภูมิของแผงโซล่าเซลล์ที่เย็นกว่าและจากการสะท้อนกลับของแสงจากผิวน้ำ แผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งโดยไม่ได้ทำความสะอาดจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้าลดลง การใช้หุ่นยนต์เพื่อทำความสะอาดแผงโซล่าแบบลอยน้ำมีความได้เปรียบกว่าการใช้แรงงานคนในเรื่องความเร็วและประสิทธิภาพในการทำความสะอาด สามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและทำความสะอาดได้
โครงการวิจัยนี้ต้องการพัฒนาต้นแบบ 2 ต้นแบบ คือ หุ่นยนต์สำหรับทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบอัตโนมัติ และแปรงทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบกึ่งอัตโนมัติในกรณีที่ยังใช้แรงงานคน เพื่อให้เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้งานจริง การออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับใช้ทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำไม่สามารถนำรูปแบบหุ่นยนต์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ได้เลย เนื่องจากการติดตั้งแผงที่แตกต่างกัน การขยับเคลื่อนที่ได้ของแผงโซล่าเซลล์จากแรงคลื่นและแรงลมทำให้หุ่นยนต์ต้องมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนที่ โครงการนี้เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้หุ่นยนต์ในการทำความสะอาดแผงโซล่าร์เซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ พร้อมที่จะพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม