มจพ. ร่วมกับ กฟผ. และวัดโพธิ์เผือก เปิดตัวเตาเผาศพอัจฉริยะแห่งแรกของไทย ช่วยลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพงษ์ เลิศวิริยะประภา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เครือข่ายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย คุณระพีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี คุณชัยยศ หาญอมร ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ กฟผ. ดร.วัฒนา ศักดิ์ชูวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนนทบุรี พระครูปลัดนนท์ กิตติปัญฺโญ (บุญแพ) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์เผือก ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดใช้เทคโนโลยีเตาเผาศพอัจฉริยะแห่งแรกของไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มจพ. หัวหน้าคณะนักวิจัยในโครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบเตาเผาศพประสิทธิภาพสูง อัจฉริยะ ลดมลพิษ เป็นมิตรกับชุมชน ซึ่งเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ วัดโพธิ์เผือก อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นางระพีพรรณ แก้วเพียงเพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เตาเผาศพอัจฉริยะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ที่ช่วยลดมลภาวะก๊าซเรือนกระจกในภาพของประเทศ และลดโลกร้อน ปัจจุบันเตาเผาศพตามวัดต่าง ๆ ต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2565 หากเตาเผาศพของวัดที่ยังไม่มีระบบบำบัดมลพิษ สามารถปรับปรุงให้สามารถควบคุมมลพิษได้อย่างอัตโนมัติ และใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากช่วยชุมชนโดยรอบวัดแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพงษ์ เลิศวิริยะประภา รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เครือข่ายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวเสริมว่า มจพ. ร่วมกับ กฟผ. ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาต้นแบบเตาเผาศพประสิทธิภาพสูง อัจฉริยะ ลดมลพิษ เป็นมิตรกับชุมชน ในการศึกษาและประเมินสมรรถนะของเตาเผาศพและสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เกือบ 50 วัด พร้อมทั้งออกแบบเตาเผาศพอัจฉริยะ เป็นระบบไฮบริด โดยนำขดลวดไฟฟ้ามาใช้ ในการให้ความร้อนร่วมกับการใช้หัวเผาน้ำมัน เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์มากขึ้น ออกแบบให้การทำงานและการควบคุมระบบต่าง ๆ เป็นแบบอัตโนมัติ มีระบบเซ็นเซอร์วัดค่า และควบคุมความทึบแสงของควัน ระบบบันทึกข้อมูลการทำงานของเตาเผาศพผ่านระบบ IoT สามารถดูสถานะการทำงานต่าง ๆ ของเตาเผาศพผ่านแพลตฟอร์ม อีกทั้งสามารถแจ้งเตือนสภาวะการทำงานต่าง ๆ ของเตาเผาศพ พร้อมทั้งรายงานผลค่าใช้จ่าย ปริมาณการใช้เชื้อเพลิง ระยะเวลาในการเผา และมีระบบควบคุมมลพิษ
นายชัยยศ หาญอมร ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์โครงการ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญ ในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพอากาศ จึงได้ร่วมกับ มจพ. พัฒนาเตาเผาศพอัจฉริยะขึ้น ภายใต้แผนจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (EGAT Air Time) ด้วยการใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อ สภาวะโลกร้อน รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเตาเผาศพอัจริยะนี้จะเป็นต้นแบบสำหรับวัดอื่น ๆ ในการนำไปปรับปรุงเตาเผาศพต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ การใช้งานเตาเผาศพอัจฉริยะหนึ่งครั้ง ลดการใช้พลังงานและเชื้อเพลิงได้กว่า 947 เมกะจูล หรือคิดเป็น 37% หรือเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 167 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคิดเป็น 93.87 % สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เกือบ 700 บาท หรือคิดเป็น 32.32 % และสามารถควบคุมค่าความทึบแสงของเขม่าควันที่ปล่อยจากเตาเผาได้ไม่เกิน 4% >>>ดูภาพประกอบเพิ่มเติม Click
รุ่งนภา/ข่าว
วุฒิสิทธิ์/ถ่ายภาพ