พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมาย

มหาวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายกับนายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)พร้อมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐานBuilding Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา ในวันที่ 15 ธันวาคม 2564  ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน  กรุงเทพฯ การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้เดินหน้านำพลังงานทดแทนมาใช้และลดใช้พลังงาน 30% ในปี 2580 จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065 รวมถึงการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบในระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน 

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวงฯ BEC  ปี 2563 นั้นทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ออกกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน 2563  ประเภทอาคารที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฏกระทรวงฯ คือ อาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลงที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตาราเมตรขึ้นไป ใน 9 ประเภทอาคารตามกฎกระทรวงฯ ข้อที่ 14ได้ระบุว่าการตรวจประเมินในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีคุณสมบัติ ดังนี้   (1) วิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม (2) ผู้ที่ได้รับการรับรองจาก พพ. ว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด และกฎกระทรวงฯ ข้อ 15ระบุให้เจ้าของอาคาร มีหน้าที่จัดทำรายงานฯ เพื่อประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร คือ (1) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (2) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร
แนวทางการบังคับใช้ในปีแรกบังคับใช้อาคาร  10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ปีที่ 2 บังคับใช้ 5,000 ตารางเมตร ขึ้นไป  ปีที่ 3 บังคับใช้  2,000 ตารางเมตร ขึ้นไป ใช้โปรแกรมตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน เป็นโปรแกรมช่วยในการประเมินอาคารที่ออกแบบว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ หรือไม่ โดยปัจจุบันอยู่ในรูปแบบออนไลน์ (BEC Web-Based) โปรแกรม BEC Web-Based ใช้งานผ่าน http://bec.energy.in.th 

           นอกจากนี้ พพ. ได้เตรียมให้สถาบันการศึกษา  7  แห่ง อันได้แก่  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมวางเป้าหมายสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีความพร้อม เพื่อให้บุคคลากรของสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติได้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดในการบังคับใช้มาตรฐาน BEC ตลอดจนการบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษาอย่างแท้จริง

Powered by Froala Editor